คำถามที่พบบ่อย

1.อาคารประเภทไหนบ้างที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ BEC

อาคารที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ BEC ต้องเป็นอาคารอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปในอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4)ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ 9) สถานศึกษา

2.เกณฑ์ BEC ประกอบด้วยอะไร และมีการประเมินการผ่านเกณฑ และไม่ผ่านเกณฑ์อย่างไร

เกณฑ์ BEC กำหนดมาตรฐานไว้ 5 ระบบหลัก ได้แก่ 1) ระบบเปลือกอาคาร 2) ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 3) ระบบปรับอากาศ 4) อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน และ 5) การใช้พลังงานชดเชยด้วยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ต้องมีค่ามาตรฐานไม่เกินที่ประกาศกระทรวงกำหนด

การผ่านเกณฑ์ประเมินของการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สามารถพิจารณาได้จาก 2 แนวทาง ได้แก่ การผ่านเกณฑ์ทุกระบบ และการผ่านเกณฑ์การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร สำหรับอาคารที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกระบบ ให้พิจารณาค่าการใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร ต้องต่ำกว่าค่าการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารอ้างอิง

3.ต้นทุนการก่อสร้างที่แตกต่างกันระหว่างอาคารอนุรักษ์พลังงาน และอาคารทั่วไป

ด้วยเกณฑ์ BEC มีการประเมินแบบการผ่านเกณฑ์ทุกระบบ และการผ่านเกณฑ์การใช้พลังงานโดยรวม โดยจากสถิติการตรวจประเมินของ พพ. ที่ผ่านมากว่า 806 แบบอาคาร พบว่าผ่านเกณฑ์ทุกระบบ 40% และผ่านเกณฑ์การใช้พลังงานโดยรวมทั้งหมด

          ถ้ามีการปรับปรุงให้ผ่านเกณฑ์ทุกระบบ โดยเฉพาะระบบเปลือกอาคารที่ทำได้ยาก จะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และมีระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ย 3.02 ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอายุการใช้งานของแต่ละอาคารที่ 30 ปี แล้ว พบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้

4.วัสดุด้านการอนุรักษ์พลังงานมีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดหรือไม่ และราคาเป็นอย่างไร

ปัจจุบันวัสดุด้านการอนุรักษ์พลังงานมีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กระจกสีเขียวตัดแสงกันความร้อน ฉนวนกันความร้อนติดใต้หลังคา หรือเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 เป็นต้น สำหรับเรื่องราคาแพงกว่าวัสดุทั่วไปเล็กน้อย แต่อยากจะพิจารณาเรื่องของความคุ้มค่าและความเหมาะสมของราคา กับประโยชน์ที่จะได้รับด้วย

5. หน้าที่ของ พพ. และศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน คืออะไร

พพ. มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้ก่อตั้งหน่วยงานภายในคือศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ ศูนย์ BEC ตั้งแต่ ปี 2553 ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล เผยแพร่องค์ความรู้ ให้คำปรึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ตรวจแบบอาคารภาครัฐตาม มติ ครม. วันที่ 4 ตุลาคม 2554 และเอกชนที่สนใจ และฝึกอบรมให้ความรู้แก่ วิศวกร สถาปนิก เจ้าหน้าที่อนุญาตแบบก่อสร้าง ฯลฯ

6. ผู้ตรวจประเมินแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานมีจำนวนเพียงพอหรือไม่

ที่ผ่านมา พพ. ได้อบรมให้ความรู้การตรวจประเมินแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานให้กับสถาปนิกและวิศวกร รวมกว่า 3,000 คน และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม กว่า 11 สถาบัน เพื่อที่จะสร้างนิสิต นักศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่เริ่มต้น

7. พพ. มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับผู้ตรวจประเมินแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานอย่างไร

ตั้งแต่ปี 2560 พพ. ได้มีการนำร่องเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างผู้ตรวจประเมินแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานมืออาชีพโดยมีการอบรมขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 400 คน และยังเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเพื่ออนุญาตก่อสร้างหรือเปิดใช้งานอาคาร จำนวนกว่า 1,900 คน (เป้าหมาย 5,000 คนทั่วประเทศ)

8. จำนวนแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ผ่านการตรวจประเมิน และผลการประเมินตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน นำร่องตรวจรับรองแบบอาคารภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี และอาคารเอกชนที่สนใจ รวมกว่า 806 อาคาร โดยแบ่งเป็นภาครัฐ 502 อาคาร และภาคเอกชน 304 อาคาร ซึ่งจาก

9. ประโยชน์ของอาคารอนุรักษ์พลังงาน ต่อเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคาร และการใช้พลังงานในประเทศ

ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงให้มีการใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลประหยัดพลังงานอย่างน้อยร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับการออกแบบอาคารทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงด้านอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจากแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี คาดว่าในปี 2579 จะมีผลประหยัดรวมประมาณ 13,686 ล้านหน่วย (1,166 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) หรือคิดเป็นเงินประมาณ 47,000 ล้านบาท และเจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละปีลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดใช้พลังงานในประเทศ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงาน

10. แนวทางการยกระดับมาตรฐาน BEC ให้สูงขึ้น

เกณฑ์ BEC ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานพลังงานขึ้นต่ำ ไม่ได้ยากต่อการปฎิบัติ ซึ่งปัจจุบันวัสดุอุปกรณ์ทั่วไปก็ทำผ่านเกณฑ์แล้ว
แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟมาใช้หลอด LED ที่มีค่าการไฟฟฟ้าน้อยลงมาก เป็นต้น ดังนั้นเกณฑ์ BEC จึงมี Road Map ในการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีอยู่แล้ว เบื้องต้นวางแผนไว้ทุกๆ 6 ปี

11. ระยะเวลาของการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

ในระหว่างรอกฎหมายให้มีผลบังคับใช้นี้ พพ. ได้ให้บริการตรวจประเมินแบบอาคารด้วยเกณฑ์ BEC ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายรองรับอยู่แล้ว โดยใช้ระยะเวลาตรวจประเมินอาคารและออกใบรับรองภายใน 28 วันทำการ แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะมอบหน้าที่การประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบ ที่ได้รับรองจากสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก แทน

12. โปรแกรมประเมินประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร Building Energy Code Software: BEC Software

BEC เป็นโปรแกรมที่อำนวยความสะดวกในการตรวจและประเมินการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน  ว่ามีค่าอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่ ผู้ใช้งานต้องป้อนค่าต่างๆ ที่จำเป็นป้อนลงในโปรแกรม เช่น ชนิดของวัสดุก่อสร้าง  กรอบอาคารที่ใช้ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง  ระบบปรับอากาศ เป็นต้น


โครงสร้างโปรแกรม BEC ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ฐานข้อมูล (Database)
– ข้อมูลกรอบอาคาร (Envelope)
– ข้อมูลระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting System)
– ข้อมูลระบบปรับอากาศ (A/C System)
– ข้อมูลระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (PV System)
– ข้อมูลระบบทำความร้อน (Hot Water System)
– ข้อมูลอุปกรณ์การใช้ไฟฟ้าอื่นๆ (Other)

ส่วนที่ 2 แบบจำลองอาคาร(Building Model)
– การสร้างแบบจำลองอาคาร (Building Zone)
– การป้อนข้อมูลระบบอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับอาคาร

ส่วนที่ 3 รายงานผลวิเคราะห์การใช้พลังงาน(Report)
– ระบบกรอบอาคาร (Envelope System)
– ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting System)
– การใช้พลังงานรวมของอาคาร (Whole Building Energy)
– ระบบปรับอากาศ (Air-Conditioning System)
– ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (PV System)
– ระบบทำความร้อน (Hot Water System)