งานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562

พพ. มอบรางวัล 137 แบบอาคาร และฉลากอาคารกับอาคารที่ดีกว่าเกณฑ์ BEC 17 แบบอาคาร
ประจำปี 2562 พร้อมเดินหน้าใช้มาตรการคุมอาคารใหม่-ดัดแปลงขนาด 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป

 

          พพ. มอบรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 137 และฉลากแบบอาคาร 17 แบบอาคารอนุรักษ์พลังงานผ่านเกณฑ์มาตรฐาน BEC ประจำปี 2562 ทั้งอาคารเอกชน อาคารภาครัฐ สถานศึกษา พร้อมเดินหน้าผลักดันแบบอาคาร สถานศึกษา, สำนักงาน, อาคารโรงมหรสพ, ห้างสรรพสินค้า, อาคารสถานบริการ, อาคารชุมนุมคน, โรงแรมสถานพยาบาลและอาคารชุด ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code : BEC) ซึ่งบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง ขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการออกแบบอาคารและใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

         นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน พพ. เปิดเผยว่าในวันนี้ (22 กรกฎาคม 2562) ได้จัดกิจกรรม งานมอบฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 ที่มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน BEC ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับอาคารขนาดพื้นที่ 10,000 5,000 และ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ตามลำดับ โดยในปี 2562 นี้
มีอาคารของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งสิ้น 137 อาคาร และผ่านการคัดเลือกได้รับมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน จำนวน
 17 อาคาร แบ่งเป็น ฉลากระดับดีเด่น 1 อาคาร, ฉลากระดับดีมาก 9 อาคาร, ฉลากระดับดี 7 อาคาร ครอบคลุมอาคารเรียน สำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม เป็นต้น 

      นับเป็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของการดำเนินโครงการฯ ที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานภายในอาคาร โดยมีการส่งเสริมให้เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงการออกแบบอาคารใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งระหว่างปี 2559 – ปัจจุบัน ได้ดำเนินการมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 114 อาคาร และโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวนกว่า 700 อาคาร

      พพ. ยังได้เตรียมความพร้อมขยายเกณฑ์บังคับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรืออาคารดัดแปลงต่อไป เพื่ออาคารมีการใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการออกแบบอาคารให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP 2015) พ.ศ. 2558 – 2579 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไว้ตามภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการดำเนินงานแบบผสมผสาน
ทั้งมาตรการบังคับใช้ด้วยกฎหมาย และมาตรการจูงใจสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการอนุรักษ์พลังงานในภาคอาคาร นายโกมล บัวเกตุ กล่าว